ด้วยงบประมาณ พื้นที่ในการติดตั้งที่จำกัด หรือเวลาที่จำกัด อาจทำให้เราไม่สามารถติดตั้งระบบคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มต้นที่การออกแบบห้องคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลม วิธีนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งโรงงานที่เพิ่งสร้างใหม่ หรือ โรงงานเดิมที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น
การออกแบบห้องคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลม ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?
1. สถานที่
การออกแบบห้องคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมที่ดี จะช่วยให้ควบคุมคุณภาพลมอัดได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมั่นใจได้ว่าคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมจะอยู่ในตำแหน่งที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมโดยการมีระบบ HVAC หรือ มีการระบายอากาศที่ดี
และถึงแม้ว่าคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมรุ่นปัจจุบันถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานที่มีเสียงเงียบมากกว่ารุ่นก่อนๆ แต่ก็ยังคงมีเสียงรบกวนในขณะที่เครื่องทำงานอยู่ดี ดังนั้น การจัดวางคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมในห้องที่กำหนด จะช่วยลดเสียงรบกวนในพื้นที่ที่ทำงานลงไปได้มาก
นอกจากนี้คุณควรจะจัดวางห้องคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมให้อยู่ใกล้กับจุดที่จะใช้งาน โรงงานส่วนใหญ่ได้ลองติดตั้งห้องคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมไว้ที่จุดศูนย์กลางของตำแหน่งที่จะใช้งาน เพื่อลดระยะทางในการจ่ายลม และยังช่วยลดปริมาณของท่อลมที่ใช้งาน ลดการเกิด pressure drop รวมถึงลดจุดที่มีแนวโน้มที่จะเกิดการรั่วไหล
ซึ่งภายในห้องคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมนั้น ควรมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่มีการระบายอากาศที่เหมาะสม เพราะหากอุปกรณ์แต่ละอย่างอยู่ใกล้กันเกินไปก็จะทำให้ความร้อนจากคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมเครื่องหนึ่งดูดเข้าไปในคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมอีกเครื่องหนึ่งจนเกิดความร้อนสะสมมากขึ้น
2. ระยะห่าง
ควรขอคำปรึกษาจากผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมที่คุณใช้งาน เพื่อให้คุณสามารถจัดวางระยะห่างของเครื่องจักรได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมต่อการระบายความร้อน และเข้าถึงการบำรุงรักษาเครื่องได้ง่าย ตัวอย่างเช่น คอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมที่มาพร้อมฝาครอบ อาจมีประตูบานพับที่เปิด-ปิดได้ หรือ เป็นฝาครอบที่ชนิดที่ต้องถอดออก ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ ล้วนต้องการระยะห่างในการจัดวางที่ไม่เท่ากัน
อีกตัวอย่าง เป็นกรณีสำหรับการซ่อมบำรุงเครื่องที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ จำพวกเครื่องยก หรือ แม่แรง ในการบำรุงรักษา จะต้องจัดวางเครื่องให้มีระยะห่าง ความสูง และพื้นที่ว่างที่เพียงพอสำหรับการให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าบำรุงรักษาเครื่องได้
3. การกำจัดน้ำเสีย
ไอน้ำที่ปะปนอยู่ในลมอัดนั้นประกอบไปด้วยสิ่งปนเปื้อนที่ลอยอยู่ในอากาศ และน้ำมันที่เจือปนมาจากระบบ oil-injected เราจึงควรกรองสารปนเปื้อนที่มีอยู่ในไอน้ำนั้นก่อนจะระบายลงท่อหรือกำจัดออกไป เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ตามข้อปฎิบัติหรือกฎหมายเรื่องการกำจัดน้ำเสียที่มาจากคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลม, after cooler, เครื่องทำลมแห้ง (dryer) และ air receivers
4. การติดตั้งนอกอาคาร
เราอาจติดตั้งคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมไว้นอกอาคารก็ได้ หากสถานที่ตั้งนั้นมีอุณหภูมิหรือสถานที่ที่เหมาะสม แต่ควรติดตั้งโดยมีหลังคาคลุมเพื่อกันฝนไม่ให้สาด หรือรั่วไหลเข้าสู่ตู้ไฟฟ้า โดยวางเครื่องให้ห่างจากขอบหลังคา เพราะ คอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลมนั้นมีแรงดูดจากฝั่งดูดอากาศขาเข้า จึงอาจทำให้น้ำฝนไหลเข้าตัวเครื่องและก่อให้เกิดความเสียหายได้ ควรใช้เครื่องที่มีมาตรฐานขั้นการป้องกันระดับ NEMA 3R เป็นขั้นต่ำ ซึ่งจะช่วยปกป้องตัวเครื่องของคุณจากน้ำฝน และสิ่งสกปรก ส่วนมาตรฐานการป้องกันในระดับที่สูงกว่าอย่างเช่น NEMA 4 นั้นเหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องล้างทำความสะอาดคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มลม